ประวัติความเป็นมาของ “หลวงปู่เย็น ทานรโต” มีดังนี้
“หลวงปู่เย็น ทานรโต” เป็นชาวเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี โดยท่านเกิดเมื่อวันเสาร์ เดือนสี่ ปีขาล พุทธศักราช ๒๔๔๕ เป็นบุตรคนแรกในจำนวนพี่น้อง ๖ คน ของ นายถิ่น นางแซ่ม ศรีศาสตร์ บิดามารดาของท่านมีอาชีพทำนา ตัวท่านเองนั้นนอกจากจะช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพกสิกรรมแล้ว ยังมีฝีมือในเชิงช่างหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นช่างไม้ ช่างปูน แม้กระทั้งการออกแบบบ้านเรือน หรือวัดวาอารามตลอดจนสลักลวดลายท่านก็ทำได้และฝีมือดีมากเสียด้วย จนกระทั่งอายุครบบวชหลวงปู่เย็นได้ทำการอุปสมบทตามประเพณีอันดีงามของชายไทย ทั่วไป ณ วัดเดิมบาง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งอยู่ใกล้บ้านของท่าน หลังจากได้เป็นพระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนาสมบูรณ์แล้ว ท่านได้ย้ายไปอยู่วัดระฆังโฆสิตาราม จังหวัด ธนบุรี (ในสมัยนั้น) เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย ภาษาบาลี และภาษาขอม จนสอบได้นักธรรมเอก และเปรียญ ๔ ประโยค ระหว่างนั้นท่านมีชื่อเสียงโด่งดังมาก ในฐานะนักเทศน์ฝีปากเอก หากประชาชนรู้ว่าได้นิมนต์ “มหาเย็น” มาเทศน์ด้วยไม่ว่าอยู่ใกล้อยู่ไกลก็หลั่งไหลมาฟังเทศน์กันอย่างล้นหลาม
วันหนึ่งขณะที่นั่งพักผ่อนในกุฏิก็เห็นพระธุดงค์รูปหนึ่งเดินผ่านมา รูปร่างหน้าตาน่าศรัทธา ใบหน้างามดูเป็นหนุ่มไม่แก่ชราเลย แต่เกศานั้นขาวโพลนไปหมด รูปร่างสูงใหญ่ จีวรสีคล้ำตามแบบพระป่า
หลวงปู่เย็นท่านใจเกิดความเลื่อมใสศรัทธาขึ้นมาอย่างประหลาด จึงไปนิมนต์ท่านมาพักในกุฏิพร้อมทั้งต้อนรับปฏิสันถารท่านเป็นอย่างดี เมื่อต้อนรับท่านเป็นที่เรียบร้อยแล้วจึงชวนท่านสนทนา เพราะขณะนั้นหลวงปู่เย็นอยากทราบว่าพระธุดงค์นั้นเขามีวัตรปฏิบัติอย่างไร และขณะธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆในป่าในดงนั้นไม่กลัวอันตรายต่างๆ บ้านหรือไร
พระธุดงค์รูปดังกล่าว เมตตาอธิบายเรื่องธุดงควัตรเป็นอย่างดี “การธุดงค์นี้เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส พระผู้สมาทานธุดงค์นั้นต้องรักษาศีลให้บริสุทธิ์หมดจด เพราะหากศีลด่างพร้อยแล้วย่อมเป็นอันตรายต่อตัวเองขณะธุดงค์ได้ การธุดงค์นั้นมีข้อวัตร ๑๓ ประการ เช่นอยู่ในป่า อยู่ที่แจ้ง อยู่ในเรือนร้าง ใช้ผ้าสามผืน หลังไม่เอนติดพื้น ฉันรวมกันในบาตรเป็นต้น ธุดงควัตรทุกข้อเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสในใจตนทั้งสิ้น หากว่ามีธุดงควัตรเรียบร้อยงดงาม อำนาจแห่งธุดงควัตรนั่นแลจะรักษาผู้ประพฤติปฏิบัติให้พ้นจากภัยอันตรายต่างๆ เทวดาจะพากันอนุโมทนา
เมื่อหลวงปู่เย็นถามว่าท่านธุดงค์ไปที่ใดมาบ้างและไม่กลัวอันตรายหรือ พระธุดงค์ลึกลับกล่าวว่าท่านธุดงค์ไปมาทั่ว ไม่ว่าประเทศไทย พม่า ลาว เขมร ท่านไปมาหมด ในป่าลึกนั้นเต็มไปด้วยอันตรายนาๆ ประการ ทั้งไข้ป่า สัตว์ร้าย ภูตผีปีศาจนานาชนิด ท่านยังเมตตาเล่าให้หลวงปู่เย็นฟังว่า ครั้งหนึ่งท่านธุดงค์ไปยังเมืองลาว ต้องเดินผ่านเข้าไปยังหมู่บ้านหนึ่งที่มีชื่อว่า “บ้านแก้ว” ซึ่งเป็นที่เลื่องลือในเรื่อง “ยาพิษยาสั่ง” คนแปลกหน้าผ่านเข้าผ่านไปในหมู่บ้านเป็นต้องถูกลองยาเสมอ น้อยคนนักจะออกมาได้อย่างปลอดภัย มีคนลองวิชาแต่ท่านไม่เป็นไร พร้อมทั้งพูดปริศนาว่า “เขาทำให้ตาย กินข้าวได้เราไม่กลัว” ซึ่งเป็นคำปริศนาหมายถึงการทำยาสั่งยาเบื่อใส่ แต่พระลึกลับรูปนี้สามารถทานข้าวปลาอาหารที่มียาเบื่อยาสั่งได้โดยปราศจากอันตราย
เมื่อยิ่งพูดยิ่งคุยยิ่งสนทนากับพระลึกลับรูปนี้แล้วก็ทำให้หลวงปู่เย็นทราบขึ้นมาแน่ชัดว่า พระรูปที่กำลังนั่งสนทนากับท่านข้างหน้านี้หาใช่พระภิกษุปุถุชนธรรมดาไม่ แต่หากเป็นพระผู้วิเศษที่สำเร็จฤทธิ์อภิญญาตามวิชชาชั้นสูงของพระพุทธศาสนา หรือท่านอาจเป็นพระอริยเจ้าผู้อยู่เหนือโลกไปแล้ว
พระ ลึกลับรูปนี้ได้หยิบก้านธูปที่จุดหมดดอกแล้วนำมาหักเป็นสี่จังหวะแล้วหยิบ สายสิญจน์ขึ้นมาพันไปมาพร้อมทั้งบริกรรมกำกับ จนสำเร็จเป็นรูปตัว “พ.พาน” จากนั้นส่งให้หลวงปู่เย็น พร้อมกับกล่าวโอวาทว่า
“พ.พานวิเศษ”นี้หมายถึง “แก้วสารพัดนึก” หมายถึง การนึกอยากได้หรือต้องการอยากได้อะไรก็จะได้ดังใจปรารถนา ผู้ใดได้ไว้ครอบครองตั้งมั่นในศีลธรรม ในความดี ก็จะได้สมใจนึก ตัวพอ “พ” นี้ เป็นของวิเศษ อันเกิดจากพระวาจาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงตรัสไว้ที่โคนต้นโพธิ์ “พอ พอ แล้วใครไม่ต้องเป็นครูสอนเราแล้ว” พอเรารู้ในธรรมวินัยนี้ว่าเป็นของที่เลิศประเสริฐยิ่งนัก พระพุทธก็ดี พระธรรมก็ดี พระสงฆ์ก็ดี เป็นของดีที่วิเศษ ยิ่งกว่าสิ่งใดๆ ในโลกนี้