ค้นหาร้านค้า / Search Shop

ค้นหาเครื่องราง / Search Item

ติดตามพัสดุ

แบนเนอร์โฆษณา

สระเกล้าดำหัว เป็นจะใด วิลักษณ์ ศรีป่าซาง

โดย : Admin      เมื่อ : อังคาร ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2561 เวลา 23:29     อ่าน : 1023


สระเกล้าดำหัว เป็นจะใด
วิลักษณ์ ศรีป่าซาง

ถ้าจะตีความอย่างกว้างๆ การรดน้ำดำหัว น่าจะมี 2 นัยยะ คือ "ด้วยความเคารพ" และ "ด้วยความเกรงใจ" คือ มันมีหั้นอย่าง ตอบไม่ได้

รดน้ำดำหัว มีคำอื่นอีกหลายคำ เช่น ดำหัว สระเกล้าดำหัว สรงน้ำ ตานขันข้าว ตานกัวะข้าว อย่างชาวยองเหล่าดู่ป่าซางว่า

ปีใหม่ปีหวาน ชื่นบานหัวใจ อันใดดีอันใดงามก็ทำกัน แผ้วบ้านกวาดเรือน ทำบุญทำทาน ขอพร ขอสูมาลาโทษต่อผู้ที่เราเคารพรัก ส่วน นัยยะต่อมาคือ จำเป็นต้องไป เช่น รดน้ำดำหัวเจ้านาย นับแต่ผู้ใหญ่บ้านกำนัน ประธาน อบต. นายอำเภอหรือผู้ว่า เพราะบางทีต้องไปเพราะมีเงื่อนไขหลายอย่าง เช่น ตำแหน่ง เงินสด และประโยชน์อันพึงจะมี และ กลัวเปิ้นจะว่าหื้อ

อ่านหนังสือพ่อครูมณี พะยอมยงค์ พ่อครูอุดม รุ่งเรืองศรี พ่อครูมาลา คำจันทร์ และจากประสบการณ์ของผู้เขียน การรดน้ำดำหัว ตั้งเค้าที่วัด คือสรงน้ำพระเจ้าเข้าวัดก่อน ถัดจากนั้นดำหัวพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ย ลุงป้าอาวอา บิดามารดา ญาติชิดสนิทเชื้อ แล้วค่อยสระเกล้าดำหัวท่านอื่นๆ

แต่นี่มีกำหนดมาแล้วว่า ต้องดำหัวผู้บริหารวันที่ 8 นายอำเภอวันที่ 9 เออนั่น ธัมโมสังโฆ ยังไม่ได้สรงน้ำพระเจ้าพระธรรมเตื่อ

ความจริงคำว่าดำหัวคนเฒ่าคนแก่ที่บ้าน อันหมายถึงพ่อแม่อุ๊ยย่ายายท่านทั้งหลาย คงไม่มุ่งหวังจะได้กินห่อหนึ้ง แคบหมูหรอก คือใคร่ได้เห็นหน้ากัน ว่างั้นเหอะ

บางคนก็เกินไป (อย่างผู้เขียนเป็นต้น) ปีไหนเดือนไหนได้เห็นหน้าท่านสักครั้ง นี่บาปก็ขบหัวแล้ว ปีใหม่สงกรานต์นางและนายลูกรักตัวดีหนีไปแอ่วกะเพื่อนปล่อยคนเฒ่านั่งเหงาอยู่คาเรือนก๊กงก

บางคนตั้งใจดำหัวด้วยของดีของงาม อันมีโทรศัพท์ แก้วแหวนเงินทองก็แล้วแต่ บางคนก็เกินไปซื้อข้าวเกรียบลายธงชาติปากซอยใส่ถุงแซ่วพร้อมกับข้าวแตนข้าวแคบอย่างโบราณ ดอกไม้ก็หึดหักชักเด็ดที่ริมรั้ว ซัดตีนขี้นเรือนมามาขอยืมจอกใส่น้ำเทฝักส้มป่อยลอยดอกคำฝอย แล้วว่ามาขอพร

"คือถ้าไม่ตั้งใจมาก็ละขว้างไว้หัวขั้นใด ยังมิแหน็ม ตอนกลับเอาห่อหนึ้งชิ้นทอดพกกลับไปบ้านอีก เสี้ยงใจแท้" ที่ว่านี้มิใช่วิลักษณ์นะ ฟังจากปู่ลุงข้างบ้าน

เดือนชีปีใหม่ หมดใสผ่องงาม บางคนเอาลูกเอาผัวหนีไป พ่อแม่ยังคาใจ มาอีกที่เอาหลานหน้อยมาด้วย ใจใครจะดำไม่รับไหว้ เพราะคำปันพรตอนหนึ่งว่า

“อันใดก็ตามที่สูทั้งหลายได้ปากล้ำคำเหลือได้ขึ้นที่ต่ำได้ย่ำที่สูงประมาทะด้วยกายกรรมวจีกรรมมโนกรรม ก็ดี ผู้ข้าขออโหสิกรรมหื้อ....”

เพียงแค่นี้ ที่ด่าว่าที่เล่าขวัญมาตลอดปี ก็หมดใส่ใหม่หม้า ปีหน้าค่อยว่ากันใหม่

ที่นี้จะว่าด้วยขั้นตอนการรดน้ำดำหัว...เมื่อเตรียมข้าวของประดามีแล้ว ขันเงินสะหลุงเงินอันใดดีอันใดงามก็เอาออกมาใช้ได้แล้ว ซื้อมาเอาใส่ตู้ ให้หนูและแมลงสาบมันชม ตระเตรียมให้ดี เหมือนตั้งใจทำการบ้าน ทำรายงานส่งครู ใส่ถุงแซ่วมา ชาติหน้าก็ได้กินกับถุงแซ่วนะ ของแพงค่าซื้อมาแล้วก็เอามาใช้ นอกจากจะคึแล้ว ยังบอกรสนิยม

และเมื่อนั่งอยู่ส่องหน้าเรียบร้อย ยกของดำหัวมาอย่าเพิ่งประเคน ยอมือสา บอกกล่าวจุดประสงค์ก่อนว่ามาทำไมเพื่ออะไร แล้วยกประเคน คนเฒ่ารับเอาแล้วเอามือจุ่มน้ำข้าวหมิ้นส้มป่อยมาลูบหัว แล้วก็เริ่ม เอวังหนตุ....จนจบ

ต่อจากนั้น ก็มัดมือปันพร ทุกอย่างก็เป็นน้ำแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็ถามสารทุกข์สุขดิบ สูเขาได้ลูกกี่คน เยียะการที่ไหน ผัวคนเก่าละแล้วกา มึงเอาเมียเป็นชาวทางใด คนปีแล้วกับปีนี้คนเดียวกันก่ (อันนี้เราว่าไปเรื่อย)

คนเฒ่าเองมีลูกได้หลานแล้ว ใกล้ปีใหม่ปีหวานฝึกท่องจำคำพรไว้ จะได้บ่อายหลานๆ "อุ๊ยเฮาผญาปึกล้ำเช่น"

สระเกล้าดำหัว มีแต่ความงดงาม สายใจครอบครัวผูกพันฟั่นรัก คำพรก็งดงาม คนก็งามเสื้อผ้าก็งาม ทุกอย่างดีงามหมด วันปีใหม่สิ่งใดไม่ม่วนใจก็อย่าพูด อย่าเอ่ยถึง ทั้งการบ้านการเมืองการศาสนา และสงคราม รวมทั้งการเล่าขวัญนินทาทั้งมวล "ยั้งเหียสัปดาห์หนึ่ง" ทุกสิ่งจะเป็นมังคละ

ปีใหม่นี้ผู้ข้าขออำนวยพรหื้อท่านทั้งหลาย อยู่ม่วน กินหวาน ชุ่มเนื้อ เย็นใจ จิ่มแด่เต๊อะ สาธุ.


Copyright Lanna Amulet All right reserved. © สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมายโดย บริษัท ล้านนา อมูเล็ต จำกัด.