"ขึด ตั๋วมันเป็นจะใดเจ้า"
วิลักษณ์ ศรีป่าซาง / เรื่องและภาพ
ดนัย ศิริกาญจนากุล / เสาะหาคำผิด
ศิษย์รุ่นโบราณ ตั้งแต่ปีมะโว้ โทร.ถามด้วยสำเนียงคุ้นเคย คำแรกคือ "จำหนูได้มั้ยอาจารย์" ธัมโม ใครจะไปจำได้ คำถามต่อมาคือเรื่องที่จะเขียนถึงในตอนนี้ "อาจารย์เจ้า ขึด นี้ตั๋วเป็นจะใดคะ หนูใคร่เห็น"
ขึด ไม่ใช่แมงเม่าแมงมันหรือไข่มดส้ม ไม่มีตัวตน แต่มีผลต่อสภาวะทางจิต หนูเหย
คำว่า “ขึด” เขียนเป็นภาษาไทยยาก ใช้ตัว ค. กลายเป็น คึด ใช้ตัว ข. เป็น ขึด แต่มันบ่แม่น ออกเสียง เป็น ค.+ อื่อ+อื้อ+ด. ดูปากครูนะ คือ+อืด+ ขึด
ขึด เป็นความเชื่อนะ ไม่มีตัวตน แต่มีผลทางจิตใจ เป็นจารีตต้องห้าม หมายถึงการกระทำหรือเหตุการณ์ที่เป็นเสนียด จัญไร อัปมงคล หรือตรงกับภาษาล้านนาว่า “มันบ่ดี”
อาจเกิดขึ้นได้หลายทางด้วยกัน ทั้งที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์เอง เกิดจากสัตว์ หรือเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ผิดจากสภาวะปกติ
ชาวล้านนาเชื่อว่า ถ้ามีเหตุการณ์ “ขึด” ดังกล่าวเกิดขึ้น จะนำความวิบัติ ฉิบหาย หายนะ และความเป็นอัปมงคลมาสู่ผู้ที่เป็นต้นเหตุ ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขเหตุร้ายนั้นจึงต้องมีการ “ถอนขึด” อันมีปู่อาจารย์เป็นผู้ประกอบพิธี
ตัวอย่าง ขึด เช่น ไม่ควร ถมสมุทร ขุดกระแส แหม่รูทวาร รานสรี ม้างตีอก ปกกะโดงค้างตุง หรือ ขึดที่เกิดจากความผิดปกติทั้งหลาย เช่น คนหรือสัตว์เกิดมาผิดปกติ ฯลฯ (ผู้สนใจโปรดศึกษาเพิ่มที่ คมเนตร เชษฐพัฒนวนิช, 2539)
อนึ่ง ข้อห้ามต่าง ๆ เหมือนเป็นคลองธรรม ไม่ปฏิบัติตามก็ไม่ผิดกฎหมาย แต่อาจไม่สบายใจ คนเมืองว่า “อิกขลิกใจ”
ถ้าไม่ลำบากมากที่จะปฏิบัติหรือเชื่อตามก็ควรจะทำดั่งคลองธรรมนั้นกำหนด เพราะท้องถิ่นใดสถานที่ใดก็ย่อมมี “กติกาการอยู่ร่วมกัน และการปฏิบัติร่วมกัน” ของท้องถิ่นและสถานที่นั้นๆ
หนังสือ ขึด อุบาทว์ และวิธีแก้แบบล้านนา ของพระครูอดุลสีลกิตติ์ (2555) กล่าวถึงขึด และลางร้ายต่างๆ ขอยกตัวอย่างเป็นแนวทางศึกษา ดังนี้
ขึด เช่น เบนกระแสแม่น้ำ / ปิดประตูเก่าที่ดีอยู่แล้ว / ถมหนองน้ำ แม่น้ำ ทางหลวง / แขวนตุงกับต้นไม้ / เอาป่าช้าทำเป็นนา / เอาไม้เหล่านี้ทำฟืน สาก ไม้บ้านเก่า ไม้วัด / ทำลายภูเขาให้ราบ / ไม่ทำตามคำสั่งเสีย / ถมบ่อน้ำ / ย้ายของมงคลจากที่เดิม / ฆ่าคนใช้ท้าวพระญา / ฆ่าสัตว์บอกเหตุ / คนในวงศ์เดียวกันเสพเมถุนกัน / สัตว์ต่างวงศ์เสพเมถุนกัน / ลบล้างประเพณีของหมู่บ้านของเมือง / ฯลฯ
ลางบอกเหตุ เช่น น้ำตาพระพุทธรูปตก / เหงื่อพระพุทธรูปออก / เจดีย์แตก / ฟ้าผ่าวัด / แผ่นดินแตก / สระน้ำเป็นสีเลือด / ชาวเจ้าทะเลาะกัน / เห็นตะวันมี ๒ ดวง / ไก่ป่าเข้าเมือง / การ้องกลางคืน / แร้งจับยอดพระธาตุดอยสุเทพ / ดาวประกายอยู่ในเงี่ยงเดือน / กล้วยออกปลีกลางกอ/ กลองดังเอง / เห็ดออกเตาไฟ / ฯลฯ
สรุปคือ ขึด คือการทำอะไรผิดรีตรอยธรรมเนียม วัฒนธรรม ฯลฯ ส่งผลให้ "บ่ม่วนใจ" และมีเหตุให้เชื่อว่าจะเกิดผลอื่น ๆ ตามมา
คนเมืองเชื่อถือเรื่องนี้ มีการบันทึกทรงจำไว้มากมาย เราคิดว่ามันคงเป็นสถิติแม่นยำ คือ “ขึดแล้ว มีเหตุ เกิดเหตุร้ายตามนั้น”
แต่ที่ส่งผลทันใดคือ มันควีใจไม่ม่วนใจ ใจสุขมีสุข ใจทุกข์มีทุกข์ ใจจึงฆ่าใจตน เอาล่ะ แต่ถ้าเราไม่ “ถือ ไม่ใส่ใจ” ใจผู้ทำขึดต้องแกร่งพอ ไม่ฟังฟ้าฟังฝน ประมาณนั้น
เราเองยังแปลกใจว่า คนศาลนี่ใจเขาแกร่งเนาะ จะไปอยู่บ้านพักถากดอย มันขึด กลับไม่อิกขลิกใจ รึว่า ท่าน ๆ ไม่ “ถือ” หากเป็นเรา ขนฅิงคงลุกซ้อนกัน 7 ครั้ง.
ปล.ภาพประกอบไม่ข้องแวะกะเรื่อง หลายท่านว่าเป็นของหมาน !!!!