ค้นหาร้านค้า / Search Shop

ค้นหาเครื่องราง / Search Item

ติดตามพัสดุ

แบนเนอร์โฆษณา

พระมหาอุปคุตเจ้า (2)  วิลักษณ์ ศรีป่าซาง / เรื่อง

โดย : Admin      เมื่อ : อังคาร ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2561 เวลา 23:15     อ่าน : 1947


พระมหาอุปคุตเจ้า (2) 
วิลักษณ์ ศรีป่าซาง / เรื่อง
อดุล ตัณฑโกศัย / ภาพ
ดนัย ศิริกาญจนากุล ดูแลคำพิมพ์ผิด

3. พระมหาอุปคุต พระบัวเข็ม กับการเรียกขาน

แต่เดิมอีกเช่นกัน เรารู้จักแต่เพียงพระมหาอุปคุตปางจกบาตร บางองค์หับฝาบาตรไว้ เงยหน้ามองฟ้า บ้างก็ว่ามองตะวัน

พ่ออุ๊ยเล่าให้เราฟังว่า เนื่องจากท่านอยู่สะดือทะเล เมื่อจะฉันภัตตาหารก็เกรงจะเลยเพล จึงแหงนมองตะวันไม่ให้ข้ามพ้นศีรษะ เอาเข้าลึกเข้าดึก อาจมีนัยยะอื่น ๆ อีกก็เป็นได้

เอาเป็นว่า ผู้ข้ารู้มาแค่นี้ก็เล่าไว้แค่นี้ ท่านทั้งหลายเอ๋ย เอ่ยบอกกันด้วยเน้อถ้ารู้

บางคนก็จำหมายเอาปางจกบาตรนี้เป็นมงคล ใครได้บูชาแล้ว จะมีกินมีใช้ตลอด (กินบ่เสี้ยง) คือมีเงินทองกองก่าย ใช้ไปเท่าไหร่ไม่หมดสักที

ส่วนพระบัวเข็มนั้น คนล้านนาต่างเรียกเป็นพระมหาอุปคุตด้วยเช่นกัน และในข้อเขียนนี้จะเรียกพระอุปคุต บัวเข็มก็แล้วกัน ที่เรียกบัวเข็มเพราะมีใบบัวปกเกศ มีเข็มสลักองค์ จำนวน 9 จุด ที่นับพระบัวเข็มเป็นพระอุปคุตด้วยนั้น ในวงการพระเครื่องพระบูชาจำหมายเอาใต้ฐานหรือรอบฐานจะมีรูปดอกบัว สัตว์น้ำ เช่น กุ้ง หอย ปู เต่า ปลา เช่นเดียวกัน

และถึงแม้ลักษณะทางศิลปะหรือปางจะต่างกัน (ความจริงมีหลากหลายมาก โปรดดูภาพประกอบ) แต่ก็ขานนามเช่นเดียวกันคือพระมหาอุปคุต

เข็มหรือหมุดตรึงองค์พระนั้น บางท่านว่า เข็มนี้คือ “แซว่” หรือสลักตรึงส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ทำนองเดียวกับพระเจ้าแสนแซว่ คือพระพุทธรูปที่หล่อโลหะทีละส่วน ก่อนจะใช้สลักยึดประกอบเป็นองค์ แต่บางท่านก็คิดแย้งว่า น่าจะมีนัยยะอื่น เฝ้าถามไถ่มานานเนิ่น มีแต่ผู้ส่ายเศียร

พระอุปคุต บัวเข็ม บางองค์ พบว่าบรรจุเม็ดพระธาตุที่ฐาน เจาะรูบรรจุเม็ดพระธาตุ อัญมณี หรือเม็ดเงิน เคยพบว่ามีเศษทองคำบรรจุด้วย เขย่าจะได้ยินเสียง

อนึ่ง นอกจากปางจกบาตร และบัวเข็มแล้ว คนล้านนายังนับรวมพระพุทธรูปศิลปะอย่างพม่าหรือมอญ ที่ใต้ฐานแกะเป็นรูปดอกบัว และสัตว์น้ำเช่นกัน เป็นพระมหาอุปคุตด้วย

พระมหาอุปคุต บัวเข็ม ส่วนมากสร้างจากผงสมุกคลุกรัก (คนเมืองเรียก สะมุก หรือ มุกหมายถึงผงละเอียด) หรือไม้แกะ (บางท่านว่าแกะจากไม้โพ) บางองค์เป็นไม้แกะแล้วพอกด้วยสมุก ทารัก ลงชาติ ปิดทอง ที่สร้างจากโลหะพบน้อยชิ้นกว่า ส่วนองค์เล็ก ๆ ห้อยคอได้ ในวงการพระเครื่องเรียกพระอุปคุตเขมร บางองค์อุดกริ่งใต้ฐาน พระหัตถ์ถือดอกบัวไว้แนบองค์

จากการสะสมของผู้เขียน พบพระมหาอุปคุตอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นโลหะมีลักษณะอย่างพระพุทธรูปตระกูลชานทรงเครื่อง แต่ฝีมือพื้นบ้านกว่า หล่อโลหะผสมทีละชิ้น บางองค์ลักษณะเช่นเดียวกับพระบัวเข็ม มีใบบัวปกเกศ มีเข็มตามจุดต่าง ๆ

พระมหาอุปคุตดังกล่าวนี้ ในวงการนักสะสมพื้นถิ่นล้านนา เรียกพระอุปคุตปะหล่อง หมายถึงพระพุทธรูปของชาวไทดอย (ออกเสียง ไต-หลอย) ชนเผ่าในพม่า

ผู้เขียนสังเกตเห็นการตั้งบูชา จะแช่ในน้ำตั้งไว้ สอบถามคนในพื้นถิ่นก็เรียกพระมหาอุปคุต ๆ

ลักษณะสุดท้ายที่จะกล่าวถึงคือ เป็นงานปั้นมือหล่อโลหะ รูปพระมหาอุปคุตอยู่ในหอย บางชิ้นเป็นหอยโข่ง หรือรูปลักษณ์อย่างหอย (โปรดดูภาพประกอบอีกครั้ง) บางท่านเรียกพระสังข์ (สังข์ทอง ลูกน้อยหอยสังข์ ?)

นอกจากนี้ยังพบลักษณะอื่น ๆ อีก ที่บ่งว่าเป็นพระมหาอุปคุต (ตามที่เข้าใจ) เพราะท่านอยู่ในหอย อันเป็นสัตว์น้ำ จำหมายเหมือนฐานพระตามที่กล่าวมา รวมทั้งพระพุทธที่เกี่ยวข้องกับพญานาคลักษณะต่าง ๆ อีกด้วย

จะเห็นว่า พระมหาอุปคุตในมิติของคนล้านนาในปัจจุบัน มีลักษณะหลากหลาย ที่น่าสนใจคือ การสมมติให้ก้อนหินที่งมได้ในแม่น้ำเป็นพระอุปคุตด้วย ดังจะเล่าต่อไป

ความคิดและปรัชญานี้ ทำให้ประหวัดนึกถึงการสมมติให้เม็ดทรายหรือหินลักษณะพิเศษ เป็นพระบรมสารีริกธาตุ อาจเพราะพระพุทธเจ้าในมิติความเชื่อของชาวล้านนา มีมากเท่าเม็ดทรายในห้วงสมุทร

“การสมมติให้สิ่งไร้ค่านั้นมีค่า” เป็นปรัชญาลึกซึ้งน่าสนใจยิ่ง

ภาพ 1-6 พระมหาอุปคุต บัวเข็ม
ภาพ 7 พระมหาอุปคุต พิมพ์พระพุทธ
ภาพ 8 พระมหาอุปคุต บัวเข็ม อีกลักษณะหนึ่ง
ภาพ 9-12 พระอุปคุต บัวเข็ม ปะหล่องไทดอย
ภาพ 13-16 พระมหาอุปคุต แบบต่าง ๆ
ภาพที่เหลือ ใต้ฐานพระมหาอุปคุต บัวเข็ม


Copyright Lanna Amulet All right reserved. © สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมายโดย บริษัท ล้านนา อมูเล็ต จำกัด.