เป้ง
วิลักษณ์ ศรีป่าซาง / เรื่อง และภาพ
ดนัย ศิริกาญจนากุล / พิสูจน์อักษร
เป้ง หรือ ลูกเป้ง หมายถึงตัวถ่วงน้ำหนักที่ใช้กับเครื่องชั่งโบราณหรือตราชู คนล้านนาเรียกชั่งชนิดนี้ว่า ยอย ด้านหนึ่งมีจานใส่ของเรียกผางยอย ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นที่ใส่ตัวถ่วงน้ำหนัก คือ เป้ง
ลูกเป้งทำจากโลหะ ส่วนมากเป็นสำริดที่เป็นทองเหลืองก็มี มีหลายขนาด ทำเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น นก เป็ด หงส์และสัตว์ตามปีนักษัตร หรือทำเป็นลูกกลม ๆ ไม่ตกแต่งลวดลาย
เป้งบางตัวมีเนื้อตะกั่วเติมเข้าไปเพื่อให้ได้น้ำหนักครบตามจำนวน บางตัวคล้ายกับควักเนื้อตรงฐานออก นัยว่าเพื่อให้ได้น้ำหนักตามต้องการ
ความสำคัญของลูกเป้งนั้น นอกจากจะเป็นเครื่องถ่วงน้ำหนักดังกล่าวแล้ว คนล้านนายังใช้ลูกเป้งแทนค่าได้อีกหลายนัยยะ
นัยยะแรก แทนค่าเป็นทรัพย์สินเช่นเดียวกับเงินตรา เช่นในขันตั้งอย่างล้านนา (ขันหรือพานใส่ดอกไม้ธูปเทียนเป็นเครื่องคารวะบูชาครูหรืออื่น ๆ) ที่ใช้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ จะใส่ลูกเป้งในขันนั้นด้วย ถือเป็นของมีค่ามีราคาแทนทรัพย์สิน
นัยยะต่อมา ลูกเป้งรูปนักษัตร หรือเป้งสิบสองราศี ใช้ใส่ขันตั้งเพื่อให้ขันตั้งนั้นเกิดสัมฤทธิผลมากขึ้น เพราะฤทธีของลูกเป้ง สามารถปราบแพ้ (ชนะ) ขึดหรือเสนียดจัญไรได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะขันตั้งในพิธีกรรมสำคัญ ๆ เช่น การสืบชาตาบ้านเมือง เป็นต้น
อีกนัยยะหนึ่งนั้น ลูกเป้งหมายถึงตัวนำโชค เป็นเครื่องรางอย่างหนึ่ง แต่เป็นเครื่องรางที่ใช้งานได้ นอกจากนี้ยังเรียกถุงผ้าขนาดเล็กมีหูรูดที่ใช้ใส่เงินพกติดเอวโดยเหน็บกับเข็มขัด เรียกว่า ถงเป้ง หรือ ถุงเป้ง ส่วนถุงที่ใส่ลูกเป้งโดยตรงนั้นเท่าที่เคยเห็นจะใช้ผ้าเย็บทำเป็นถุงลักษณะคล้ายร่มชูชีพ ใส่ลูกเป้งหลาย ๆ ตัว ส่วนยอยเครื่องชั่งตราชูจะใส่ในตลับไม้ซึ่งต้องออกแบบให้ใส่เครื่องชั่งได้พอดี
เราจำได้ว่ามีผู้แม่นเรื่องเป้งหลายท่าน จำชื่อได้แม่นคือ อ.อ๊อฟ บ้านอยู่ใกล้ ๆ กัน ท่านแม่นเรื่องเก่า ใหม่ น้ำหนัก และราคา เราเองจำไม่ได้เลย รู้แต่ว่างามนี้ อ.อ๊อฟเรียงลูกเป้งและเงินโบราณไว้อย่างเป็นระบบ เห็นแล้วขอบคุณแทนยุวชน จะได้รู้เห็น และรู้จักในกาลอนาคต
พี่สาวเราชื่อ พัชรี เจ้าของพิพิธภัณฑ์บ้านฝิ่นเชียงแสน เธอเก็บลูกเป้งไว้พะเนิน แบ่งชั้นวรรณะไว้เป็นระเบียบ ตัวใหญ่ตัวน้อยนานา เราเห็นแล้วตาลาย แต่เธอสามารถหารายได้มหาศาลจากตั๋วเข้าชม ที่แปลกคือ คนชมย่อมเป็นคนเทศทั้งนั้น
ลูกเป้งเป็นเรื่องอัศจรรย์ถึงแม้ไม่ขลังข่าม แต่เสน่ห์เหลือร้าย เรือนล้านนาอดีต ใครเก่งค้าขาย เรือนนั้นหมายว่าต้องมีเป้งค้างเรือน เสียดายแต่เพียงว่า ของดีของงามมักสูญหายเมื่อยามต้องการ ใครมีก็เก็บไว้เน้อ ทราบข่าวว่า บางตัวมีค่ามากกว่าลำไย 3 สวน ตะแลม ตะแลม.